แนวทางปฏิบัติในการเบิกค่ารถส่งต่อผู้ป่วยผ่านระบบเบิกจ่ายตรง
ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค.0422.2/ว396 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554กำหนดให้สถานพยาบาลที่ส่งตัวผู้ป่วยที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัย สามารถขอรับค่าใช้จ่ายได้ในอัตราที่กำหนดนั้น จึงขอแจ้งแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลของทางราชการ ดังนี้
- ผู้มีสิทธิ เป็นผู้มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 โดยต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบุคลากรภาครัฐ (CSBF) ซึ่งตรวจสอบได้จากโปรแกรมเบิกค่ารถส่งต่อ และต้องอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยหรือได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย
- ผู้เบิก
- เป็นสถานพยาบาลของทางราชการที่นำรถไปส่งผู้ป่วย(สถานพยาบาลต้นทาง) หรือไปรับผู้ป่วย(สถานพยาบาลปลายทาง)
- ในกรณีที่รถส่งต่อผู้ป่วยเป็นของสถานพยาบาลอื่น ให้สถานพยาบาลต้นทางหรือสถานพยาบาลปลายทางที่เป็นผู้ขอใช้รถดังกล่าว เป็นผู้เบิกจ่ายให้กับสถานพยาบาลเจ้าของรถ
- เงื่อนไขในการเบิก
- เป็นการส่งต่อผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยหรือได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป จนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศยกเลิก
- เป็นการส่งต่อโดยรถพยาบาลของสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่รวมถึงรถส่วนตัวหรือรถสาธารณะ
- เป็นการส่งต่อผู้ป่วยจากสถานพยาบาลหนึ่งไปยังอีกสถานพยาบาลหนึ่งเนื่องจากไม่สามารถทำการรักษาได้ ไม่รวมถึงกรณีการรับผู้ป่วยจากที่บ้านหรือที่เกิดเหตุ และไม่รวมถึงกรณีการส่งไปตรวจทางห้องทดลองหรือเอ็กซเรย์ยังสถานพยาบาลอื่นเนื่องจากสถานพยาบาลนั้นไม่อาจให้การตรวจทางห้องทดลองหรือเอ็กซเรย์แก่ผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลได้
- สถานพยาบาลปลายทางต้องรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน หรือนอนสังเกตอาการ (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตระหว่างส่งต่อ)
- อัตราการเบิก เบิกได้ตามค่าใช้จ่ายจริง ไม่เกินอัตราเที่ยวละ 500 บาท + อัตราเพิ่มตามระยะทางไป-กลับ 4 บาทต่อกิโลเมตร โดยโปรแกรมจะคำนวณระยะทางจากพิกัด GPS ของสถานพยาบาลต้นทางและสถานพยาบาลปลายทาง เศษของระยะทางที่ต่ำกว่า 5กิโลเมตร จะปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็มที่หารด้วย 5 ลงตัว กรณีการส่งต่อครั้งนั้นมีการแวะสถานพยาบาลอื่นด้วย ให้เบิกเฉพาะระยะทางจากสถานบริการต้น ทางถึงสถานบริการปลายทางที่รับผู้ป่วยไว้เท่านั้น
- วิธีการเบิก
- สถานพยาบาลที่ส่งต่อทำการบันทึกข้อมูลในโปรแกรมเบิกค่ารถส่งต่อ ที่ http://cs1.chi.or.th/ambtrcs และพิมพ์ “แบบขอเบิกค่ารถส่งต่อผู้ป่วย” ที่ได้จากโปรแกรม ลงชื่อผู้ทำการส่งต่อแล้วนำไปพร้อมกับ การส่งต่อผู้ป่วย (หรืออาจจะกรอกข้อมูลในแบบขอเบิกค่ารถส่งต่อที่จัดพิมพ์ไว้ล่วงหน้าแล้วก็ได้) โดยให้สถานบริการปลายทางลงชื่อรับการส่งต่อ และนำกลับมาบันทึกข้อมูลในโปรแกรมเบิกค่ารถส่ง ต่อให้ครบถ้วน ทั้งนี้สถานบริการที่ขอเบิกต้องเก็บเอกสารดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานสำหรับการตรวจสอบ
- เมื่อฝ่ายการเงินของสถานพยาบาลตรวจสอบแล้วว่าข้อมูลการส่งต่อผู้ป่วยรายนั้นถูกต้องครบถ้วน ให้ทำการบันทึกเป็นไฟล์ แล้วส่งไฟล์ดังกล่าวมาให้ สกส.ที่ E-mail : ambtrcs@uc.chi.or.th โดย สกส.จะแจ้งผลการตรวจสอบและเอกสารตอบรับทาง mailbox ของสถานพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน
- เมื่อถึงรอบการตัดข้อมูลเบิก ทุก 15 วัน ตามกำหนดการออกบัญชีรายการเบิกของผู้ป่วยระบบการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกรักษาต่อเนื่อง สกส.จะรวบรวบรายการเบิกค่ารถส่งต่อที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว แสดงไว้ใน Statement ผู้ป่วยนอก โดยให้สถานพยาบาลใช้คำขอเบิกฉบับเดียวกัน
- ในระยะแรกนี้ กำหนดให้สถานพยาบาลผู้เบิกเป็นผู้จัดทำข้อมูลเพียงฝ่ายเดียวก่อน ในระยะต่อไปเมื่อระบบเปิดใช้งานโดยสมบูรณ์แล้ว ทั้งสถานพยาบาลต้นทางและสถานพยาบาลปลายทางจะต้องบันทึกข้อมูลในโปรแกรมเบิกค่ารถส่งต่อเพื่อยืนยันการรับ-ส่งผู้ป่วย โดยข้อมูลที่ขอเบิกได้จะต้องมีการบันทึกข้อมูลจากสถานพยาบาลทั้งสองแห่ง
- การใช้งานโปรแกรม
- สกส.จะจัดส่ง user name และ password ในการใช้งานโปรแกรมให้สถานพยาบาลของทางราชการทุกแห่งที่เคยทำธุรกรรมกับ สกส. ทาง mailbox ระบบผู้ป่วยนอก (Hcode@uc.chi.or.th)
- ให้สถานพยาบาลศึกษาวิธีใช้งานโปรแกรมในเอกสาร “คู่มือการใช้งานโปรแกรมเบิกค่ารถส่งต่อ”
----------------------------------