วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรียนรู้ รู้จัก สิทธิหลักประกันสุขภาพ

  •  รู้จักสิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท 
คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากกฎหมายประกันสังคม หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "สิทธิหลักประกันสุขภาพ" หรือที่เคยรู้จักกันในนาม "สิทธิบัตรทอง" เพื่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต
  •  ตรวจสอบสิทธิ ก่อนการรักษาพยาบาล 
  1. ติดต่อด้วยตนเองได้ที่ สถานีอนามัย/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำหรับผู้พักอาศัยในกรุงเทพมหานครติดต่อสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร
  2. บริการตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลด้วยระบบอัตโนมัติ โทร.1330 กด 2 ตามด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน (ค่าบริการ 3 บาท/ครั้ง) โดยข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลจะปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันทุกวันที่ 15 และวันที่ 28 ของทุกเดือน 
  •  ลงทะเบียนก่อนใช้สิทธิ 
    • เอกสารลงทะเบียน
      • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ใช้สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด)
      • สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ หนังสือรับรองการพักอาศัย
    • สถานที่ลงทะเบียน ในวัน-เวลาราชการ
      • ต่างจังหวัด : สถานีอนามัย/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
      • กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเขตของ กทม. สปสช.บริการลงทะเบียนสิทธิการหลักประกันสุขภาพโดยระบบอัตโนมัติ ให้กับผู้หมดสิทธิประกันสังคมและผู้หมดสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ โดยประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลได้ทางระบบออนไลน์ www.nhso.go.th (ข้อมูลปรับปรุงทุกวันที่ 15 และวันที่ 28 ของเดือน) และสามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนติดต่อขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ที่สถานที่รับลงทะเบียน
      • คนพิการที่ยังไม่ได้ระบุสิทธิย่อย ท.74 ในระบบหลักประกันสุขภาพต้องนำใบรับรองความพิการจากแพทย์หรือแสดงบัตรคนพิการ พ.ร.บ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ.2550 ลงทะเบียน ณ สถานที่รับลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิฟื้นฟูสมรรถภาพได้
  •  คุ้นเคยก่อน กับคำว่า หน่วยบริการ 
    • หน่วยบริการ หมายถึง โรงพยาบาล สถานีอนามัย (รพ.สต.) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานพยาบาลของเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ
    • หน่วยบริการปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำ หมายถึง หน่วยบริการที่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเลือกลงทะเบียนเพื่อรับบริการสาธารณสุขเป็นประจำ โดยทั่วไปจะเป็นหน่วยบริการที่มีสถานที่ตั้งใกล้เคียงกับที่พักอาศัยของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ
  •  ขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ 
    • ติดต่อด้วยตนเองได้ที่สถานีอนามัย/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานเขตของ กทม. ในวันเวลาราชการ โดยมีสิทธิเปลี่ยนหน่วยบริการได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี (ตุลาคมถึงกันยายนขอปีถัดไป)
    • การขอรับบริการ ณ หน่วยบริการแห่งใหม่ สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท ได้หลังแจ้งความจำนงเปลี่ยนหน่วยบริการประมาณ 1 เดือน
  •  ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท 
    • กรณีทั่วไป
    1. ติดต่อที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ
    2. แจ้งความจำนงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพก่อนรับบริการ
    3. แสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้ สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี แสดงสำเนาสูติบัตร (ใบเกิด) คนพิการที่ได้รับการลงทะเบียน ท.74 ในระบบหลักประกันสุขภาพใช้สิทธิเข้ารับบริการสาธารณสุขกรณีที่จำเป็นจากหน่วยบริการของรัฐที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทุกแห่ง
  •  กรณีอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน 
    • ถ้าผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน ด้วยอาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรง ต้องให้การรักษาหรือผ่าตัดเป็นการเร่งด่วน หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตทั้งกับตนเองและผู้อื่น (ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาจากอาการแรกรับ รวมทั้งคำนึงถึงการรับรู้ของผู้ป่วยร่วมด้วย) สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเข้ารับบริการที่หน่วยบริการของรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดตามความจำเป็นโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  •  กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต 
    • ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต หมายถึง ผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งมีอาการบ่งชี้ว่า จะเป็น อาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง การหายใจ ต้องได้รับการรักษาและการดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้รวดเร็ว ยกตัวอย่าง เช่น หัวใจหยุดเต้น / หอบรุนแรง / มีอาการเขียวคล้ำ / หมดสติไม่รู้สึกตัว / สิ่งแปลกปลอมอุดกลั้นหลอดลม / มีอาการวิกฤติจากอุบัติเหตุ / มีเลือดออกมากห้ามไม่หยุด / ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง / แขน ขา อ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก / ชัก / มีอาการวิกฤติจากไข้สูง / ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัดต่อย หรือได้รับยามากเกินขนาด เป็นต้น อาการฉุกเฉินนอกเหนือจากนี้ หากไม่แน่ใจโปรดโทรสายด่วน 1669 เพื่อขอคำปรึกษาและบริการช่วยเหลือต่อไป
    • ผู้ป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อการรอดชีวิต โดยสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อแสดงตนในการเข้ารับบริการ จะได้รับการรักษาโดยไม่ถูกปฏิเสธและไม่ต้องสำรองจ่าย ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต จะได้รับการรักษาจนอาการพ้นวิกฤติ จากนั้นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาจะส่งตัวผู้ป่วยกลับไปยังหน่วยบริการประจำหรือโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่พร้อมให้การรักษาต่อไป
  •  บริการสาธารณสุขที่คุ้มครอง 
    • การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น
      1. บริการวางแผนครอบครัว ได้แก่ การให้คำแนะนำปรึกษาแก่คู่สมรส รวมทั้งบริการคุมกำเนิด
      2. การดูแลสุขภาพหญิงมีครรภ์ ทารกแรกเกิด และพัฒนาการของเด็ก
      3. บริการวัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคตามแผนงานการให้ภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ
      4. การตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเป็นโรค เช่น ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลูก / มะเร็งเต้านม
      5. การให้ยาต้านไวรัสเอดส์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก
    • การคลอดบุตร รวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีที่บุตรมีชีวิตอยู่)
    • บริการทันตกรรม ได้แก่ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก
    • การตรวจ การวินิจฉัย การรักษา ตั้งแต่โรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด จนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง / โรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ไตวานเรื้อรัง เอดส์ ผ่าตัดตาต้อกระจก ผ่าตัดหัวใจ ฯลฯ รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
    • ค่ายาและเวชภัณฑ์ ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
    • ค่าอาหารและค่าห้องสามัญ ระหว่างพักรักษาตัว ณ หน่วยบริการ
    • การจัดการส่งต่อ เพื่อการรักษาระหว่างหน่วยบริการ
    • บริการทางการแพทย์แผนไทย ได้แก่ ยาสมันไพรหรือยาแผนไทย การนวดเพื่อการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ การอบหรือประคบสมันไพรเพื่อการรักษา ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
    • บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ตาม พ.ร.บ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ.2550 และได้รับการลงทะเบียน ท.74 ในระบบหลักประกันสุขภาพ สามารถขอรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการได้ตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด
*คุ้มครองค่าใช้จ่ายตามการวินิจฉัยทางการแพทย์และประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  •  บริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 
    • ขั้นตอนการเข้ารับบริการ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องไปลงทะเบียนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพที่หน่วยบริการตามสิทธิ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดพิจารณาการให้บริการทดแทนไตที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย โดยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้แก่
      1. การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง
      2. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
      3. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
    • สำหรับการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง สปสช.ได้จัดบริการส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเข้าถึงบริการทดแทนไตได้ง่ายขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้รับการทดแทนไตอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย
*คุ้มครองค่าใช้จ่ายตามการวินิจฉัยทางการแพทย์และประกาศของ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  •  บริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ 
    • ในกรณีรับยาต้านไวรัสเอดส์กับโรงพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามสิทธิ ควรมีใบส่งตัวจากหน่วยบริการตามสิทธิ
    • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์สามารถรับบริการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอดส์ได้ที่หน่วยบริการตามสิทธิ หากพบว่าติดเชื้อเอดส์จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ และการรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส
*คุ้มครองค่าใช้จ่ายตามการวินิจฉัยทางการแพทย์และประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  •  บริการที่ไม่อยู่ในความคุ้มครอง 
    • การรักาาภาวะมีบุตรยาก / การผสมเทียม
    • การเปลี่ยนเพศ / การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
    • การตรวจวินิจฉัยและการรักษาใดๆ ที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
    • การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง
    • การบาดเจ็บจากการประสบภัยจากรถ ซึ่งอยู่ในความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เฉพาะส่วนที่บริษัทหรือกองทุนตามกฎหมายนั้นต้องเป็นผู้จ่าย
    • การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วย สารเสพติด ยกเว้น ผู้ติดยาเสพติดประเภทเฮโรอีนที่สมัครใจเข้ารับการรักษาและไม่ต้องโทษคดียาเสพติดให้ได้รับสารทดแทนยาเสพติด (เมทาโดน) จากหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนได้
    • โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วัน ยกเว้น กรณีมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
    • การปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ Transplantation)
  • ยกเว้น
    • การปลูกถ่ายไตเพื่อรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
    • การปลูกถ่ายตับในเด็ก (อายุไม่เกิน 18 ปี) ที่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด
    • การปลูกถ่ายหัวใจ