วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

คลอดติดไหล่



"ก็หวังว่าโตขึ้น เขาจะช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร" 


คุณยายคำฝอยพูดให้ผมได้ยินทุกครั้งที่ได้ออกไปเยี่ยมเด็กหญิงรติกานต์ หรือน้องเมษา หลานสาวคนเล็กของบ้านที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของแขนขวา เป็นอาการที่เกิดขึ้นด้วยเหตุสุดวิสัยเมื่อครั้งแรกเกิด จากกรณีทารกตัวโตทำให้เกิดภาวะการคลอดไหล่ติด

การที่ผมได้ออกเยี่ยมบ้านของน้องเมษา ก็ด้วยได้รับคำแนะนำจากทีมให้การรักษาว่าสมควรดำเนินการคุ้มครองสิทธิให้ผู้ป่วยรายนี้โดยไม่ต้องรอให้เกิดการร้องขอ โดยให้รวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณานำเรื่องเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการรับบริการทางด้านสาธารณสุขตามมาตรา 41 ในระบบงานหลักประกันสุขภาพ ซึ่งการพบกันครั้งแรกนั้นเป็นไปด้วยความลำบากพอควรทีเดียว อาจด้วยข้อบกพร่องของช่องทางการติดต่อสื่อสาร เพราะบ้านของผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีเครือข่ายมือถือ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อของญาติหรือเพื่อนบ้านที่ผู้ป่วยได้ให้ไว้กับทางโรงพยาบาลจึงไม่สามารถติดต่อถึงตัวผู้ป่วยได้โดยง่าย ผมต้องเดินทางเข้าหมู่บ้านและตามหาบ้านของผู้ป่วยด้วยตัวเอง

น้องเมษาเป็นเด็กตัวโต ร่าเริง ยิ้มง่าย แม้มีอายุเดือนเพียงใกล้ครบขวบปี และจะต้องอยู่ในอ้อมอกของแม่หรือยายโดยตลอด สภาพที่เห็นชัดเจนคือแขนข้างขวาและมือของน้องมีความผิดปกติ กล่าวคือแขนสามารถยกขึ้นได้ลักษณะคว่ำมือในระดับไม่เกินหัวไหล่ มือและนิ้วมีแรงบีบจับแค่หัวแม่มือกับนิ้วชี้ ทำให้ไม่สามารถใช้มือข้างขวาหยิบจับอะไรได้เลย

หลังจากที่ได้ออกเยี่ยมบ่อยครั้ง จึงทำให้รับทราบถึงปัญหาที่มีอยู่และกำลังจะเกิดขึ้นของครอบครัวนี้ กล่าวคือด้วยสภาพฐานะของครอบครัวไม่สู้จะดีนัก ทั้งครอบครัวมีอาชีพทำการเกษตรพืชไร่และรับจ้างทั่วไปหลังฤดูเก็บเกี่ยว ตัดแขมขาย เนื่องจากแม่คือดวงรัตน์ หลังจากคลอดน้องเมษา จำเป็นต้องคอยให้การดูแลบุตรและต้องอยู่ด้วยตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถเป็นส่วนในการหารายได้เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ปัจจุบันมีเพียงสามีเป็นตัวหลักในการหารายได้ ยายมีอายุมากทำได้เพียงตัดแขมมาขายเป็นรายได้เสริมนิด ๆ หน่อย ๆ ปัญหาหลักคือคุณตา ผู้นำครอบครัวผู้เป็นกำลังหลัก ซึ่งกำลังประสบปัญหาถูกตามให้ชำระหนี้สินจากการที่ได้ค้ำประกันเงินกู้นอกระบบให้กับบุคคลอื่น

ภาวะค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาน้องเมษา กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการเดินทางเพื่อรับการรักษาเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กที่โรงพยาบาลชุมชนในเขตอำเภอใกล้บ้านซึ่งต้องทำเป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายในการเดินทางกรณีต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น ด้วยแพทย์นัดติดตามการรักษาประมาณ 2 เดือนต่อครั้ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ีสูงเอาการจนทำให้บางครั้งต้องเบี้ยวนัด ไม่ไปตามที่ขอนแก่นได้ระบุวันเวลาเอาไว้ให้ ไม่รวมถึงความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องประสบระหว่างการเดินทาง สร้างความเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ให้กับมารดาผู้ดูแลไม่ใช่น้อย 

หลังการดำเนินการที่ได้ส่งเรื่องเพื่อเข้าสู่กระบวนการมาตรา 41 หนึ่งเดือนหลังจากนั้นจึงมีผลการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการจังหวัด เห็นควรให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท โดยทางจังหวัดส่งมอบให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายเป็นตัวกลางในการนำส่งเช็คให้ถึงมือผู้ป่วย 

"ขอบคุณมากค่ะ ฉันจะใช้เงินอย่างดีที่สุดเพื่อดูแลลูก" นั่นคือคำพูดที่แสดงออกถึงความสุขที่แม่ของน้องเมษา รับรู้ถึงการเยียวยาจากระบบสาธารณสุขโดยที่ตนเองไม่ได้ร้องขอ แม้ค่าของเงินจะไม่มากมายอะไรนัก แต่ก็เป็นสิ่งดีๆ ที่สร้างความหวังให้กับการดูแลลูกของตนเองต่อไป 

ปัจจุบันผมยังได้พบปะกับครอบครัวของน้องเมษาอยู่เป็นระยะ ด้วยทางโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ให้การดูแลในเรื่องของค่าเดินทางเพื่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยกองทุนพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ สงเคราะห์ผู้ป่วยยากจน เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลผู้ป่วยรายนี้ให้ดำรงชีวิตได้อย่างไม่ลำบากมากจนเกินไปนัก